Psychosis Home Other Web Contact

โรคแพนิค

โรคแพนิค

โรคแพนิค(Panic Disorder) โรคแพนิคหรือโรคตื่นตระหนก เป็นโรควิตกกังวลประเภทหนึ่งที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ (Automatic Nervous System) ทำงานผิดปกติ โดยระบบประสาทนี้เป็นระบบที่ควบคุมการทำงานของร่างกายหลายส่วน จึงทำให้เกิดอาการหลายอย่างร่วมกัน เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก ท้องไส้ปั่นป่วน วิงเวียน ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นแบบฉับพลันแม้ไม่มีสาเหตุหรือมีเรื่องให้ต้องตกใจ ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกกลัว ตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก ไม่กล้าออกไปไหน หมกมุ่นเรื่องสุขภาพ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน วิตกกังวลสุดขีด หรือมีความกลัว ความอึดอัด ไม่สบายอย่างรุนแรง เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและถึงขีดสูงสุด ในเวลา 10 นาที คงอยู่สักระยะหนึ่ง แล้วค่อยๆ ทุเลาลง อาการมักหายในเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง หลังจากอาการหายผู้ป่วยมักเพลีย และในช่วงที่ไม่มีอาการแพนิก ผู้ป่วยจะกลัวว่าจะเป็นอีก ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเองโดยไม่มีปัจจัยกระตุ้น พบบ่อยในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ทำให้ความสามารถในการประกอบอาชีพลดลง และความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด ตึงเครียดมากขึ้น ทางการแพทย์ได้อธิบายเกี่ยวกับโรคแพนิคว่าเป็นภาวะตื่นตระหนกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่ไม่มีสามารถอธิบายเหตุผลได้ ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกหวาดกลัว อย่างรุนแรงทั้งที่ตัวเองไม่ได้เผชิญหน้าหรือตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย ซึ่งอาการดังกล่าวจะสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และอาจส่งผลต่อความมั่นใจในการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเนื่องจาก ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

“โรคแพนิค” อาการเป็นอย่างไร?
-ใจสั่น แน่นหน้าอก
-หัวใจเต้นแรง
-หายใจหอบ หายใจถี่
-เหงื่อออกมาก เหงื่อแตก
-ตัวสั่น
-ปั่นป่วนในท้อง
-วิงเวียน คล้ายจะเป็นลม
-หวาดกลัว รู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง
-มือสั่น เท้าสั่น
-ตัวชา ควบคุมตัวเองไม่ได้

สาเหตุของโรคแพนิก เชื่อว่ามีปัจจัยหลายประการที่อาจประกอบกันทำให้เกิดอาการ เช่น
1. ทางด้านร่างกาย มีปัญหาในการทำงานของสมองส่วนควบคุมความกลัว “Fear” ซึ่งเป็นความผิดปกติของสารสื่อนำประสาทบางอย่าง
2. ทางกรรมพันธุ์ โรคนี้อาจพบได้ในครอบครัวเดียวกัน
3. ทางด้านจิตใจ เช่น ความตึงเครียดในชีวิต ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง
4. โรคทางอายุรกรรม หรือสารยาบางตัว
โดยในบางรายอาจไม่มีสิ่งกระตุ้นเหล่านี้เลย และถึงแม้ว่าสิ่งกระตุ้นได้หมดไปแล้วก็ตาม แต่ผู้ป่วยก็ยังคงมีอาการจู่โจมเกิดขึ้นต่อไป

การรักษาแพนิก โรคแพนิกสามารถรักษาให้หายได้และไม่อันตรายถึงชีวิต ปัจจุบันวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ คือ การรักษาด้วยยา ซึ่งควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ถึงแม้ว่าอาการดีขึ้นแล้ว แต่ไม่ควรหยุดยาทันที เพราะจะเกิดอาการของการหยุดยาหรือมีอาการเก่ากำเริบ อีกวิธีหนึ่ง คือ การดูแลทางด้านจิตใจ ซึ่งเป็นการรักษาแบบ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) โดยการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาการแพนิกร่วมกับการรักษาอื่นๆ เช่น การฝึกผ่อนคลาย การฝึกหายใจ และการเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกกลัว ร่างกายจะค่อยๆ ปรับตัว อาการต่างๆ จะดีขึ้น และหายไปเอง

•การรักษาด้วยยา โรคแพนิคสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ หรือ การตรวจเลือดหาสาเหตุที่เกิดทางด้านร่างกาย เพื่อการรักษาที่ได้ผลดี นั้นจะต้องมีการรักษาทางจิตใจควบคู่ไปด้วย ปรับแนวคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วย รวมถึงคนรอบข้าง คนใกล้ชิด ควรทำความเข้าใจกับโรคนี้และให้กำลังใจผู้ป่วย ยารักษากลุ่มอาการตื่นตระหนกแบ่งตามการออกฤทธิ์ได้ ดังนี้
1. ยากลุ่มออกฤทธิ์เร็ว ยากลุ่มนี้ควบคุมอาการของโรคได้เร็ว แต่หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้ดื้อยา แพทย์จึงมักให้ยากลุ่มนี้ในระยะแรกหรือให้ในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อควบคุมอาการ เช่น ยากลุ่มช่วยคลายเครียดและนอนหลับ (Benzodiazepines)
2. ยากลุ่มออกฤทธิ์ช้า ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ต้องใช้ระยะเวลาในการออกฤทธิ์ เนื่องจากยาไปเปลี่ยนแปลงระดับสารสื่อประสาทในสมอง ผู้ป่วยจึงต้องรับประทานยาติดต่อกันอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ จึงเริ่มเห็นผล ยา กลุ่มนี้ไม่ทำให้เกิดการติดยาเหมือนยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์เร็ว ตัวอย่างยากลุ่มนี้ เช่น ยากลุ่มต้านเศร้า (Anti-depressants)
แพทย์มักพิจารณาให้ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์เร็วและออกฤทธิ์ช้าร่วมกันในระยะแรก จนเมื่อเริ่มเห็นผลการรักษาของยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ช้า จึงพิจารณาปรับลดหรือหยุดยากลุ่มที่ออกฤทธิ์เร็ว การรักษาผู้ป่วยโดยการใช้ยาครั้งแรกอาจต้องทำการรักษาต่อเนื่อง 8-12 เดือน แพทย์จึงพิจารณาหยุดยา ดังนั้น ผู้เข้ารับการรักษาควรรับประทานยาต่อเนื่องตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยทั่วไปประสิทธิภาพในการรักษาภาวะตื่นตระหนกของยาแต่ละชนิดในกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ช้านั้น ไม่แตกต่างกัน การเลือกใช้ยาในผู้ป่วยแต่ละรายจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ โดยพิจารณาจากคุณสมบัติทางเภสัชวิทยา อาการข้างเคียง ประวัติการรักษา ภาวะทางจิตเวชอื่นๆ โรคประจำตัว ยาอื่นที่ใช้ร่วม รวมถึง ความเหมาะสมด้านราคา

•การรักษาด้วยจิตบำบัด วิธีนี้ช่วยรักษาอาการแพนิคและโรคแพนิคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ป่วยจะเข้าใจอาการแพนิคและโรคแพนิคมากขึ้น รวมทั้งเรียนรู้วิธีที่จะรับมือกับอาการป่วยของตนเอง วิธีจิตบำบัดที่ใช้รักษาโรคแพนิคคือการบำบัดความคิดและพฤติกรรม  ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ว่าอาการแพนิคที่เกิดขึ้นไม่ได้อันตรายแต่อย่างใด ซึ่งการบำบัดพฤติกรรม นอกจากจะช่วยผู้ป่วยรับมือกับอาการแพนิคได้แล้วยังช่วยรักษาพฤติกรรมหลีกเลี่ยงสถานที่หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งผู้ป่วยคาดว่าทำให้เกิดอาการแพนิคได้อีกด้วย

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคแพนิค
1. มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวล และมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารายอื่นๆ
2. มีอาการติดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และใช้สารเสพติด
3. เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยารักษาโรค
4. มีปัญหาทางการเงิน เนื่องจากต้องจ่ายค่ารักษา
5. ช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ ต้องพึ่งพาผู้อื่นในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก
6. มีปัญหากับที่ทำงานหรือกับทางโรงเรียน หรือกับคนรอบข้าง

อาหารที่ผู้ป่วนแพนิคควรหลีกเลี่ยง
1.กาแฟ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนทั้งหลาย การได้รับคาเฟอีนอาจทำให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวล กระสับกระส่าย และอาจทำให้ผู้ป่วยโรคแพนิคมีอาการกำเริบขึ้นได้ 2.แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายจากความเครียดได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือ ความวิตกกังวล กระสับกระส่ายและนอนไม่หลับมากกว่าเดิม ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากขึ้นไปอีก
3.ลูกอมขนมหวาน อาหารที่มีน้ำตาลสูงอาจส่งผลให้รู้สึกอ่อนเพลียหลังจากรับประทานได้ เนื่องจากของหวานจะไปเพิ่มน้ำตาลในเลือด ร่างกายจึงต้องปล่อยอินซูลินออกมา เพื่อปรับระดับน้ำตาลให้ลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นภาวะน้ำตาลต่ำจนทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและกระตุ้นให้อารมณ์เปลี่ยนแปลงในที่สุด
4.อาหารแปรรูปและครีมเทียม เช่น ไส้กรอก เค้ก อาหารทอด และอาหารมันๆ ทั้งหลาย ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้าหรือวิตกกังวลได้เช่นกัน

เกร็ดความรู้
การปฐมพยาบาลผู้มีภาวะแพนิค
เมื่อพบเห็นผู้ที่มีอาการตื่นตระหนกหรือแพนิก ใครๆ ก็สามารถให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้โดยปฏิบัติตามขั้นตอนง่ายๆ ที่เรียกว่า “ALGEE” ดังนี้
A (Aware and Assess) ตั้งสติ ประเมินสถานการณ์
L (Listen non-judgmentally) รับฟังโดยไม่ตัดสิน
G (Give reassurance) ให้ความมั่นใจว่าเขาจะปลอดภัย
E (Encourage slow breathing) แนะนำให้เขาหายใจช้าลง
E (Encourage professional help) แนะนำให้เขาพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

ย้อนกลับ หน้าต่อไป

โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคไบโพล่า โรควิตกกังวล โรคสมองเสื่อม โรคสมาธิสั้น โรคกลัวแบบเฉพาะ โรคหลายอัตลักษณ์ โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ