Psychosis Home Other Web Contact

โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า เป็นอาการผิดปกติของอารมณ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งด้านความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม โรคซึมเศร้าเป็นภาวะอารมณ์เศร้าหมองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความรู้สึกเฉยชา ไม่สนใจสิ่งต่าง ๆ ส่งผลต่อความสามารถในการทำงานในแต่ละวัน ซึ่งก่อให้เกิดอาการทางจิตได้มากมาย การดำเนินชีวิตตามปกติอาจทำได้อย่างยากลำบากหรือรู้สึกว่าชีวิตไม่มีค่า สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วคำว่าโรคซึมเศร้าฟังดูไม่คุ้นหู ถ้าพูดถึงเรื่องซึมเศร้าเรามักจะนึกกันว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากความผิดหวัง หรือการสูญเสียมากกว่าที่จะเป็นโรค ซึ่งตามจริงแล้ว ที่เราพบกันในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกธรรมดาๆ ที่มีกันในชีวิตประจำวัน มากบ้างน้อยบ้าง อย่างไรก็ตามในบางครั้ง ถ้าอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้น นั้นเป็นอยู่นานโดยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น หรือเป็นรุนแรง มีอาการต่างๆ ติดตามมา เช่น นอนหลับๆ ตื่นๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก หมดความสนใจต่อโลกภายนอก ไม่คิดอยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป ก็อาจจะเข้าข่ายของ

โรคซึมเศร้า มีอาการอย่างไร?
เมื่อมีอาการซึมเศร้าครั้งหนึ่งแล้ว อาการอาจกำเริบขึ้นได้อีก ภาวะโรคซึมเศร้ามักจะเกิดขึ้นเป็นระลอก อาการที่อาจพบได้เสมอๆ อาการซึมเศร้านั้นมีด้วยกันหลายระดับตั้งแต่น้อยๆ ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ไปจนเริ่มมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน อาการที่พบร่วมอาจเริ่มตั้งแต่รู้สึกเบื่อหน่าย ไปจนพบอาการต่างๆ มากมาย ได้แก่
-รู้สึกเศร้า ว่างเปล่า อยากร้องไห้ สิ้นหวัง
-รู้สึกโกรธ หงุดหงิด รำคาญเรื่องเล็กน้อย
-หมดความสนใจ หรือรู้สึกไม่สนุกกับกิจกรรมส่วนใหญ่หรือกิจกรรมทั้งหมดในชีวิตประจำวัน เช่น เพศสัมพันธ์ กีฬา หรืองานอดิเรก
-ปัญหาด้านการนอนหลับ เช่น นอนมากเกินไป หรือ นอนไม่หลับ
-เหนื่อยล้า ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
-ความอยากอาหารลดลง น้ำหนักลด หรือ ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น น้ำหนักขึ้น
-รู้สึกวิตกกังวล กระสับกระส่าย ประหม่า
-คิดช้าลง พูดหรือขยับร่างกายช้าลง
-รู้สึกไร้ค่า รู้สึกผิด หมกหมุ่นเรื่องความล้มเหลวที่ผ่านมาแล้วหรือโทษตัวเอง
-ขาดสมาธิ มีปัญหาเรื่องความจำ หรือไม่สามารถคิดหรือตัดสินใจเองได้
-คิดถึงเรื่องความตาย การพยายามฆ่าตัวตายบ่อย ๆ
-มีอาการป่วยทางกายที่ไม่พบสาเหตุ เช่น ปวดหัว ปวดหลัง
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีอาการมากจนกระทบชีวิตประจำวัน โดยบางรายอาจรู้สึกเศร้าหมอง ไม่มีความสุขโดยไม่ทราบสาเหตุ

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
1. อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป ที่พบบ่อยคือจะกลายเป็นคนเศร้าสร้อย หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย เรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็ดูเหมือนจะอ่อนไหวไปหมด
2. ความคิดเปลี่ยนไป มองอะไรก็รู้สึกว่าแย่ไปหมด มองชีวิตที่ผ่านมาในอดีตก็เห็นแต่ความผิดพลาดความล้มเหลวของตนเอง ชีวิตตอนนี้ก็รู้สึกว่าอะไรๆ ก็ดูแย่ไปหมด ไม่มีใครช่วยอะไรได้ ไม่เห็นทางออก มองอนาคตไม่เห็น รู้สึกท้อแท้หมดหวังกับชีวิต
3. สมาธิความจำแย่ลง จะหลงลืมง่าย โดยเฉพาะกับเรื่องใหม่ๆ วางของไว้ที่ไหนก็นึกไม่ออก ญาติเพิ่งพูดด้วยเมื่อเช้าก็นึกไม่ออกว่าเขาสั่งว่าอะไร จิตใจเหม่อลอยบ่อย ทำอะไรไม่ได้นานเนื่อง จากสมาธิไม่มี ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำงานผิดๆ ถูกๆ
4. มีอาการทางร่างกายต่างๆ ร่วม ที่พบบ่อยคือจะรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ซึ่งเมื่อพบร่วมกับอารมณ์รู้สึกเบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร ปัญหาด้านการนอนก็พบบ่อยเช่นกัน มักจะหลับยาก นอนไม่เต็มอิ่ม หลับๆตื่นๆ รู้สึกเบื่ออาหาร ไม่เจริญอาหารเหมือนเดิม น้ำหนักลดลงมาก นอกจากนี้ยังอาจมีอาการท้องผูก อืดแน่นท้อง ปากคอแห้ง
5. ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะดูซึมลง ไม่ร่าเริง แจ่มใส เหมือนก่อน จะเก็บตัวมากขึ้น ไม่ค่อยพูดจากับใคร บางคนอาจกลายเป็นคนใจน้อย อ่อนไหวง่าย
6. การงานแย่ลง ความรับผิดชอบต่อการงานลดลง ในช่วงแรกๆ ผู้ที่เป็นอาจจะพอฝืนใจตัวเองให้ทำได้ แต่พอเป็นมากๆ ขึ้นก็จะหมดพลังที่จะต่อสู้ เริ่มลางานขาดงานบ่อยๆ ซึ่งหากไม่มีผู้เข้าใจ หรือให้การช่วยเหลือก็มักจะถูกให้ออกจากงาน
7. อาการโรคจิต จะพบในรายที่เป็นรุนแรงซึ่งนอกจากผู้ที่เป็นจะมีอาการซึมเศร้ามากแล้ว จะยังพบว่ามีอาการของโรคจิตได้แก่ อาการหลงผิดหรือประสาทหลอนร่วมด้วย ที่พบบ่อยคือ จะเชื่อว่ามี คนคอยกลั่นแกล้ง หรือประสงค์ร้ายต่อตนเอง อาจมีหูแว่วเสียงคนมาพูดคุยด้วย อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้มักจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อได้รับการรักษา อารมณ์เศร้าดีขึ้น อาการโรคจิตก็มักทุเลาตาม

โรคซึมเศร้า เกิดจากสาเหตุอะไร?
ความแตกต่างทางด้านชีวภาพ: ได้พบความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสมองในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต่อโรคซึมเศร้ายังไม่เป็นที่ประจักษ์ชัด แต่อาจจะช่วยชี้นำไปสู่สาเหตุของโรคได้
สารเคมีในสมอง: สารสื่อประสาทในสมองส่งผลต่อความรู้สึก จากงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมองและปฏิสัมพันธ์ของสารดังกล่าวกับวงจรระบบ ประสาท อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งสำคัญต่อการรักษา
การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน: ระดับฮอร์โมนที่ไม่สมดุลอาจจะเป็นตัวกระตุ้นภาวะซึมเศร้า โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ หลังคลอดบุตร หรือหลังหมดประจำเดือน ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์แปรปรวนหากมีภาวะโรคไทรอยด์หรือโรคอื่น ๆ
พันธุกรรม: ความเสี่ยงของการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้นหากสมาชิกในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน อะไรคือปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค

อะไรคือปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคซึมเศร้า?
ลักษณะนิสัยบางประการ เช่น การมองโลกในแง่ร้าย การตำหนิติเตียนตนเอง การพึ่งพาคนอื่นมากเกินไป การไม่นับถือตนเอง ผ่านเหตุการณ์ที่สร้างความบอบช้ำทางจิตใจ เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทารุณกรรมทางเพศ สูญเสียคนในครอบครัวหรือบุคคลอันเป็นที่รัก มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ หรือปัญหาด้านการเงิน คนในครอบครัวมีประวัติติดสุราเรื้อรัง ฆ่าตัวตาย เป็นโรคซึมเศร้า และไบโพลาร์ ภาวะเบี่ยงเบนทางเพศสภาพ ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง มีประวัติความเจ็บป่วยทางจิตเวช เช่น พฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติ โรควิตกกังวล หรือสภาวะป่วยทางจิตใจหลังจากต้องเผชิญกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง ภาวะติดสุราหรือสารเสพติด
โรคเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคหัวใจ
การใช้ยา เช่น ยานอนหลับ หรือยาลดความดันโลหิต ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเปลี่ยนหรือหยุดยาทุกครั้ง

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคซึมเศร้า มีอะไรบ้าง?
-ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหัวใจและโรคเบาหวาน
-ความเจ็บปวดและเจ็บป่วยทางร่างกาย
-การติดสุราและสารเสพติด
-โรควิตกกังวล โรคแพนิค หรือโรคกลัวสังคม
-ปัญหาด้านความสัมพันธ์ เช่น ครอบครัว ที่ทำงาน และโรงเรียน
-แยกตัวออกจากสังคม
-คิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย
-ทำร้ายตัวเอง
-การตายก่อนวัยอันควร

ป้องกันโรคซึมเศร้าอย่างไร?
ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีป้องกันภาวะซึมเศร้า แต่หากเริ่มมีอาการ ผู้ป่วยควรจะปฏิบัติดังนี้
-ควบคุมอารมณ์ความเครียด ยืดหยุ่น รักและนับถือตนเอง
-พูดคุยกับครอบครัวหรือเพื่อน โดยเฉพาะในช่วงเวลายากลำบาก เพื่อระบายความรู้สึก
-เมื่อเริ่มรู้สึกซึมเศร้า ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลง
-ควรเข้ารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอระยะยาว เพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะซึมเศร้าเกิดซ้ำ

การรักษา
โรคซึมเศร้านี้หากได้รับการรักษาผู้ที่เป็นจะอาการดีขึ้นมาก อาการซึมเศร้า ร้องไห้บ่อยๆ หรือรู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจ จะกลับมาดีขึ้นจนผู้ที่เป็นบางคนบอกว่าไม่เข้าใจว่าตอนนั้นทำใมจึงรู้สึก เศร้าไปได้ถึงขนาดนั้น ข้อแตกต่างระหว่างโรคนี้กับโรคจิตที่สำคัญประการหนึ่งคือ ในโรคซึมเศร้าถ้าได้รับการรักษาจนดีแล้วก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม ขณะที่ในโรคจิตนั้นแม้จะรักษา ได้ผลดีผู้ที่เป็นก็มักจะยังคงมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง ไม่สามารถทำอะไรได้เต็มที่เหมือนแต่ก่อน ยิ่งหากมารับการรักษาเร็วเท่าไรก็ยิ่งจะอาการดีขึ้นเร็วเท่านั้น ยิ่งป่วยมานานก็ยิ่งจะรักษายาก
•ยารักษา
ยาแก้ซึมเศร้ามีส่วนช่วยในการรักษาโรคนี้ แม้ผู้ที่ป่วยบางคนอาจรู้สึกว่าความทุกข์ใจหรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้นเป็นเรื่องของจิตใจ แต่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ถ้าเป็นโรคซึมเศร้า แล้วแสดงว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในร่างกายของคนเราจนทำให้เกิดมีอาการต่างๆ เช่น น้ำหนักลด อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ร่วมอีกหลายๆ อาการ ไม่ใช่มีแต่เพียงอารมณ์เศร้าอย่างเดียว ซึ่งยาจะมีส่วนช่วยในการบำบัดอาการต่างๆ เหล่านี้ อีกทั้งยังสามารถทำให้อารมณ์ซึมเศร้า ความวิตกกังวลใจทุเลาลงได้ด้วย จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า 10 คนหากได้รับการรักษา ด้วยยาแก้ซึมเศร้าอาการจะดีขึ้นจนหายถึง 8-9 คน ในขณะที่หากไม่รับการรักษานั้นอาการจะดีเองขึ้นเพียง 2-3 คนเท่านั้น (เฉพาะในรายที่อาการไม่รุนแรง หากอาการรุนแรงอาจจะกล่าวได้ ว่ายากที่จะหายเอง)การใช้ยามักจะมีข้อจำกัดด้วยเหตุว่าผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงจากยาบ่อย แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่ใช่อาการที่รุนแรง แต่ผู้ป่วยบางคนก็ไวต่ออาการข้างเคียงมาก ทำให้การปรับ เพิ่มขนาดยาทำได้ลำบาก ปัจจุบันมียาใหม่มากขึ้นซึ่งมีอาการข้างเคียงน้อยกว่ายาเก่า ทำให้การใช้สะดวกขึ้น ยากลุ่มที่ใช้ปัจจุบันกันมากคือยากลุ่ม SSRI ซึ่งกลไกสำคัญคือจะไปยับยั้งการดูดซึมซีโรโตนินกลับเข้าเซลล์ (serotonin reuptake inhibitor: SSRI) ทำให้ซีโรโตนินเพิ่มขึ้นบริเวณส่วนต่อระหว่างเซลล์ประสาท ปัจจุบันมีหลายขนานผลิตได้โดยองค์การเภสัชกรรมและบริษัทยาในประเทศ เนื่องจากหมดสิทธิบัตรยาแล้ว ทำให้ราคายาถูกลงมาก ยาขนานที่ปัจจุบันใช้เป็นยาขนานแรกในการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้แก่ยา fluoxetine และ sertraline ในผู้ป่วยสูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางโรค ยาที่ใช้มักจะมีขนาดต่ำกว่าขนาดที่ใช้กับคนปกติทั่วไป ยาบางตัวอาจมีปฏิกิริยากับยาแก้ซึมเศร้าที่กิน ดังนั้นผู้ป่วยที่กินยาอื่นๆ จึงควรแจ้งแพทย์ทุกครั้ง

•ระยะเวลาในการรักษา
หลังจากที่รักษาจนผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้ว แพทย์จะให้ยาในขนาดใกล้เคียงกับขนาดเดิมต่อไปอีกนาน 4-6 เดือน เนื่องจากพบว่าในช่วงนี้ผู้ป่วยที่หยุดยาไปกลับเกิดอาการกำเริบขึ้นมาอีกสูง เมื่อให้ยาไปจนครบ 6 เดือนโดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการเลยในระหว่างนี้ แพทย์จึงจะค่อยๆ ลดยาลงโดยใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนจนหยุดยาในที่สุด

เกร็ดความรู้
โรคอื่นที่มีอาการคล้ายคลึงกับโรคซึมเศร้า
ภาวะอารมณ์ซึมเศร้าจากการปรับตัวไม่ได้กับปัญหาที่มากระทบ
โรคอารมณ์สองขั้ว
โรควิตกกังวล

หน้าต่อไป

โรคแพนิค โรคจิตเภท โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคไบโพล่า โรควิตกกังวล โรคสมองเสื่อม โรคสมาธิสั้น โรคกลัวแบบเฉพาะ โรคหลายอัตลักษณ์ โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ