Psychosis Home Other Web Contact

โรคสมาธิสั้น

โรคสมาธิสั้น

โรคสมาธิสั้น Attention Deficit Hyperactivity Disorder(ADHD)เป็นภาวะบกพร่องในการทำงานของสมอง ที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ 3 ด้าน ได้แก่
1.ขาดสมาธิที่ต่อเนื่อง
2.ซนมากกว่าปกติหรือไม่อยู่นิ่ง
3.ขาดการยั้งคิดหรือหุนหันพลันแล่น
อาการเหล่านี้พบในเพศชายบ่อยกว่าเพศหญิงในอัตราส่วน 3:1 และส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อหน้าที่ต่างๆ เช่น ทำให้เรียนไม่ดี ไม่มีสมาธิในการเรียนรู้ ซนมากจนเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ทำกิจวัตรประจำวันช้าหรือไม่เรียบร้อย เป็นต้น

อาการของโรคสมาธิสั้น
•อาการขาดสมาธิต่อเนื่อง (Inattention) ทำให้ขาดความละเอียดรอบคอบ วอกแวกตามสิ่งเร้าหรือเปลี่ยนความสนใจง่าย ทำงานไม่เสร็จ เหม่อลอย ทำของหายบ่อย และหลงลืมกิจวัตรที่ควรทำเป็นประจำ อาการขาดสมาธิจะเป็นมากขึ้นหากเด็กต้องทำในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ แต่จะน้อยลงเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สงบหรือได้รับการเอาใจใส่แบบตัวต่อตัว และเป็นกิจกรรมที่ชอบ เช่น เล่นเกม ต่อเลโก้
•อาการซนมากกว่าปกติหรือไม่อยู่นิ่ง (Hyperactivity) มีความบกพร่องในการควบคุมการแสดงออกทางพฤติกรรมทำให้เด็กมีพฤติกรรมซุกซนมากกว่าปกติ เคลื่อนไหวหรือเล่นโดยไม่หยุด ในขณะที่นั่งมักจะยุกยิกใช้มือหยิบจับสิ่งของมาเล่น นอกจากนี้ยังอาจมีอาการพูดมากกว่าปกติ ส่งเสียงดัง และชวนเพื่อนคุยขณะเรียน
•ขาดการยั้งคิดหรือหุนหันพลันแล่น (Impulsivity) เป็นความบกพร่องในการหยุดยั้งตนเอง ทำให้ใจร้อน ไม่สามารถรออะไรได้นาน ทำอะไรมักขาดการยั้งคิด เช่น เล่นรุนแรงโดยไม่ตั้งใจ พูดแทรก หรือพูดโพล่งออกไปในขณะที่คุณครูยังอธิบายไม่จบ

สาเหตุการเกิดโรคสมาธิสั้น
•ปัจจัยทางพันธุกรรม จากการศึกษาพบว่าความผิดปกติของสมองเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคสมาธิสั้น เด็กจะมีโอกาสเป็นมากขึ้น 4-5 เท่า
•ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม จากการที่มารดามีภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ เช่น คลอดก่อนกำหนด ได้รับสารตะกั่ว ควันบุหรี่ สุรา รวมถึงการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เช่น ให้เด็กดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมเป็นเวลานาน แม้อาจไม่ใช่สาเหตุหลักโดยตรง แต่มีส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กมีอาการสมาธิสั้นมากขึ้นได้

การรักษาโรคสมาธิสั้น
การรักษาเด็กที่มีอาการสมาธิสั้นที่ได้ผลดีที่สุด คือการใช้แนวทางการรักษาแบบผสมผสาน ประกอบด้วย
•การให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและคุณครู ทำความเข้าใจโรคนี้เพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือเด็กทั้งการเรียนและการใช้ชีวิต ไม่ควรลงโทษรุนแรงจนทำให้เสียสัมพันธภาพหรือผลกระทบอื่นๆ ตามมา ควรมีความเมตตาและให้อภัยเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จากนั้นจึงค่อยๆ ฝึกสอนพฤติกรรมเด็กต่อไป
•การรักษาด้วยยา ในปัจจุบันมียาที่ใช้ในการรักษาโรคสมาธิสั้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ยากระตุ้นการทำงานของสมอง และยาที่ไม่กระตุ้นการทำงานของสมอง ซึ่งแพทย์จะพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียและความเหมาะสมตามข้อบ่งชี้ของเด็กแต่ละราย
•การปรับพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม ให้เอื้อต่อการสร้างสมาธิ

โรคสมาธิสั้น สามารถรักษาได้ นอกจากการเข้าใจพัฒนาการตามวัยของเด็กแล้ว ผู้ปกครองควรเลี้ยงดูด้วยความรัก ความเมตตา รู้วิธีสื่อสารกับเด็กอย่างถูกต้องเพื่อปรับให้ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การดูแลรักษาที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาพฤติกรรมและการเรียน เพื่อให้เด็กได้พัฒนาตามศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่

ย้อนกลับ หน้าต่อไป

โรคซึมเศร้า โรคแพนิค โรคจิตเภท โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคไบโพล่า โรควิตกกังวล โรคสมองเสื่อม โรคกลัวแบบเฉพาะ โรคหลายอัตลักษณ์ โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ